วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

3.6 ละครกับภูมิปัญญาสากล

สมาคมการละครเพื่อการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Alliance for -Theatre and
Education) ได้ให้คำนิยามของละครสร้างสรรค์ไว้ว่า
ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama) หมายถึง รูปแบบของละครชนิดหนึ่งที่เกิดจากการด้นสด(Improvisation) การไม่พยายามอวดผู้ชม (Nonexhibitional) การใช้กระบวนการเรียนรู้ (Process-centered) โดยมีผู้นำช่วยชี้นำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ใช้จินตนาการเพื่อเล่นบทบาทสมมติและเพื่อสะท้อนถึงประสบการณ์ของมนุษย์ ผู้นำมีหน้าที่ช่วยเหลือและแนะนำให้ผู้ร่วมกิจกรรมนั้นสำรวจข้อมูล พัฒนาวิธีการแสดงออกเพื่อสื่อสารความคิดและความรู้สึกโดยการใช้ละครซึ่งเกิดจากการด้นสดด้วยท่าทางและคำพูด เพื่อที่จะค้นหาความหมายหรือสัจธรรมอันเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต



กิจกรรมในละครสร้างสรรค์เป็นกระบวนการ (Process) ที่มีขั้นตอนทำกิจกรรมโดยผู้ร่วมกิจกรรมเป็นศูนย์กลางนั้น มักจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้เรียนมีความรู้หรือ คุ้นเคยอยู่แล้ว จากนั้นผู้นำจึงจะจัดประสบการณ์เชื่อมโยงจากสิ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมรู้จักอยู่แล้วไปสู่การเรียนใหม่ๆ ที่กว้างขึ้นและลึกซึ่งขึ้น และมุ่งหวังที่จะพัฒนาการทำงานของสมองทั้งสองซีกไปอย่างสมดุล
โดยภาพรวมละครสร้างสรรค์มักจะเริ่มด้วยการใช้ประสบการณ์จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (SensoryRecall) การใช้ความทรงจำ (Memory Recall) นำไปสู่จินตนาการ (Imagination) และความคิดสร้างสรรค์(Creativity) ซึ่งนำไปสู่การสวมบทบาทสมมติ (Role Play) ภายใต้สถานการณ์และกติกาที่ตกลงร่วมกันก่อให้เกิดการแสดงในแบบด้นสด ซึ่งต้องใช้จินตนาการผนวกกับการใช้ปฏิภาณ จนกระทั่ง นำไปสู่ความเข้าใจในสถานการณ์นั้นๆ มากขึ้นในที่สุดกระบวนการประเมินผลในตอนท้ายนั้นก็ช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณและไม่ว่าเป้ าหมายในการจัดกิจกรรมและละครสร้างสรรค์ในแต่ละครั้งจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้นำกิจกรรมควรจะต้องทำก่อนเริ่มกิจกรรมในขั้นตอนแรกคือ การเตรียมความพร้อม (Warm-up) ร่างกายและสมาธิให้กับผู้ร่วมกิจกรรม การเตรียมร่างกายและจิตใจเป็นขั้นตอนสำคัญมากก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมหลักอื่นๆ ผู้นำไม่ควรมองข้ามความสำคัญของขั้นตอนนี้ ตัวอย่างกิจกรรมการเตรียมความพร้อม เช่น การเดิน การวิ่งเบาๆ การยืดเส้นยืดสายแบบง่ายๆหรือเป็นการเล่นเกมส์ต่างๆ เมื่อเตรียมความพร้อมอบอุ่นร่างกายเสร็จแล้ว จะตามด้วยกระบวนการต่อไปนี้ คือ กิจกรรมจูงใจ (Motivation) กิจกรรมเตรียมทักษะละคร (Predrama) และกิจกรรมละคร (Drama Playing) และการประเมินผล (Evaluation) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี
1.กิจกรรมจูงใจ (Motivation) หมายถึงการใช้คำถามหรือสื่อประเภทต่างๆในการกระตุ้นความสนใจของผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้หรือทำความเข้าใจกับประเด็นที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา ขั้นตอนในในการสร้างแรงจูงใจนี้ อาจจะเริ่มต้นด้วยการถามคำถามที่เร้าปฏิกิริยาตอบสนอง เพื่อดึงให้ผู้ร่วมกิจกรรมมีส่วนเริ่มตั้งแต่แรกเริ่ม จากนั้นผู้นำกิจกรรมอาจจะนำเสนอข้อมูลที่จะจำเป็นต่อการแสดงในช่วงท้าย “ข้อมูล” หมายถึง สื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่จะนำไปสู่การอภิปราย หรือการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ สื่อที่ว่านี้ มีหลายรูปแบบ เช่น เกมส์ นิทาน บทกวี บทเพลง วีดีทัศน์ บทสัมภาษณ์ข่าวสาร บทความ เรื่องสั้น ภาพจำลอง แผนผัง เป็นต้น ผู้นำต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเองว่าจะใช้ข้อมูล ใดเวลาเท่าไร และอย่างไร เพื่อเป็นการปูพื้นฐานและสร้างแรงจูงใจในการแสวงหาคำตอบให้กับผู้ร่วมกิจกรรมให้มากที่สุด
กิจกรรมจูงใจ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) การเคลื่อนไหว (Movement and Game) ได้แก่ท่าใบ้ (Pantomime) การเคลื่อนไหวสร้างสรรค์(Creative Movement) การเล่นเกมส์ (Game) การทำท่าทางการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะดนตรี หรือเพลง(Movement with music and song)
2) การใช้ภาษา (Language or Word Games) ได้แก่ การถามคำถามการเล่านิทาน (Story Telling) ด้วยเทคนิคต่างๆ การร้องเพลง (Song) การอ่านบทกลอน คำสุภาษิต คำร้องในการละเล่น และการไขปริศนาคำทาย(Riddles)
3) การใช้สื่อต่างๆ เช่น ใช้หุ่น สิ่งพิมพ์ ภาพเขียน ถ่ายภาพ แผ่นพับ เป็นต้น

2. กิจกรรมเตรียมทักษะละคร (Per-drama) ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการแสดงละครนั้นผู้นำกิจกรรมควรวางแผนไว้ว่าจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมเตรียมตัวในเรื่องใดบ้าง เช่น เตรียมพร้อมร่างกาย การทำความเข้าใจกับละครที่จะแสดง การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับแสดง การคัดเลือกผู้แสดง ตลอดจนการฝึกซ้อมบทบาทในบางตอนตามความจำเป็น การที่ผู้นำกิจกรรมจะเตรียมความพร้อมกับผู้ร่วมกิจกรรมอย่างไรบ้างนั้น จำเป็นต้องจินตนาการไปล่วงหน้า ให้เห็นภาพของการแสดงละครในห้องทำกิจกรรมนั้นภายในระยะเวลาและองค์ประกอบทางเทคนิคที่จำกัด เพื่อจะได้แสดงละครที่ใช้ด้นสดได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ประสงค์
3. กิจกรรมละคร (Drama Playing) เมื่อมีการเตรียมความพร้อมมาพอสมควรแล้ว ผู้ร่วมกิจกรรมก็จะมีความมั่นใจและความพร้อมที่จะแสดง ผู้นำกิจกรรมควรสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย อบอุ่นเป็นกันเองเพื่อที่จะให้ทั้งผู้แสดงและผู้ชมซึ่งเป็นผู้มาร่วมด้วยกันนั้น สามารถทุ่มเทสมาธิให้กับละครที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในห้องทำกิจกรรม ในการแสดงละครสร้างสรรค์ผู้นำกิจกรรมควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการแสดงละคร สร้างสรรค์นั้นไม่ใช่การแสดงละครเวที ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของการแสดงแต่จำเป็นต้องเข้าใจว่าการแสดงแต่ละครั้งจะนำไปสู่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น  การนำเรื่องหนูน้อยหมวกแดงมาเป็นแรงจูงใจในการทำละคร ผู้นำกิจกรรมอาจต้องให้ผู้ร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการพูดด้นสด โดยกระทำภายใต้โครงเรื่องที่ง่ายและตัวละครที่ไม่ซับซ้อน ในการแสดงละครจึงอาจให้ผู้ร่วมกิจกรรมแสดงโดยตลอดทั้งเรื่อง เพื่อให้ เป็นการฝึกฝนทักษะการด้นสด แต่ถ้าหากเรื่องหรือนิทานที่นำมาใช้ เป็นแรงจูงใจที่มีความยาวมาก ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการแสดงภายในเวลาที่จำกัดได้ ดังนั้น ผู้นำกิจกรรมอาจจะเลือกแสดงเฉพาะบางตอนโดยเฉพาะตอนที่กระตุ้นให้เกิดการด้นสดที่มีคุณภาพ กล่าวคือ เป็นการด้นสดที่ นำไปสู่ประเด็นการพูดคุย อภิปรายในช่วงต่อไปได้
จะเห็นได้ว่า ผู้นำกิจกรรมจะต้องรู้จักจินตนาการและเลือกเฟ้นว่าจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมแสดงละครเรื่องอะไรตอนไหนเพื่อที่จะนำไปสู่การประเมินผลที่มีคุณภาพ แต่ในการแสดงออกอย่างไรนั้นผู้นำกิจกรรมควรจะปล่อยให้ผู้แสดงมีอิสรภาพในการแสดงโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปกำกับการแสดงมากจนเกินความจำเป็นแต่อาจจะทำหน้าที่คล้ายกับกรรมการการแสดงละครมากกว่า เพื่อที่จะดูว่าผู้ร่วมกิจกรรมได้ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมนั้นตามกติกาที่ตกลงกันไว้ได้หรือไม่
ประโยชน์ของการสร้างสรรค์
ประโยชน์ของละครสร้างสรรค์มีมากมาย โดยจะกล่าวแบบกว้างๆ ได้ดังนี้
1. ละครสร้างสรรค์พัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญก่อนจะไปถึงขั้นตอนของการลงมือทำ จินตนาการ คือ ความสามารถในการข้ามพ้นขอบเขตและสภาวะแห่งปัจจุบันคือ  ความสามารถที่จะมองเห็นตัวเองในสถานการณ์ใหม่ๆ หรือมองเห็นตัวเองในชีวิตของผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์  หมายถึง ความคิดหรือการกระทำในสิ่งที่ใหม่โดยไม่ซ้ำแบบหรือเลียนแบบใคร
ในระยะแรกเริ่มของการฝึกใช้จินตนาการนั้นผู้ร่วมกิจกรรมควรจะเริ่มต้นจินตนาการในสิ่งที่ตนเองมีประสบการณ์มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะช่วยให้เกิดจินตภาพซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งการขยายจินตนาการให้กว้างไกลและลึกซึ่งในลำดับต่อๆไป การเล่นบทบาทสมมติจึงเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
2. ละครสร้างสรรค์พัฒนาทักษะการคิด การคิดเป็น ทำเป็น และการแก้ปัญหาเป็น เป็นกระบวนการ
ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน ดังนั้น การสอนกระบวนการคิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้นำกิจกรรมทุกคนต้องเข้าใจ เนื่องจากกระบวนการของละครสร้างสรรค์นั้นต้องอาศัยทักษะในการถามอย่างสร้างสรรค์จากผู้นำกิจกรรม กระบวนการคิดมักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ร่วมกิจกรรมถูกถามด้วยคำถามที่ชวนคิด  ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้เกิดการแสวงหาคำตอบ กระบวนการคิดในละครสร้างสรรค์เกิดขึ้นอยู่แทบตลอดเวลาความซับซ้อนหรือระดับของการคิดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรมและลักษณะของคำถาม ตัวอย่างเช่น  หลังจากที่ผู้นำกิจกรรมเล่นนิทานให้ผู้ร่วมกิจกรรมฟังเรียบร้อยแล้ว ผู้นำกิจกรรมอาจจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมลองคิดหาวิธีการในการนำนิทานมาจัดแสดงเป็นละครภายในเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นอาจมีคำถามที่ชวนคิดที่เกี่ยวกับละครที่แสดงจบไปแล้ว    เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้จักการคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย  คิดละเอียด คิดอย่างมีเหตุผล คิดถูกทาง คิดกว้าง คิดลึกซึ่ง คิดไกล เป็นต้น
3. ละครสร้างสรรค์พัฒนาทักษะของการสื่อสารกับผู้อื่น กิจกรรมของละครสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่อาศัยทักษะของการเคลื่อนไหว การพูด การอ่าน โดยการกระทำเป็นกลุ่ม ทุกๆ ขั้นตอนในการวางแผนของกลุ่ม ทุกคน จะต้องระดมความคิด ระดมสมอง และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีการเสนอความคิดเห็น สร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อนำเสนอออกมาเป็นชิ้นงานที่จะสื่อสารกับทุกคน ในห้องกิจกรรม  และภายในกระบวนการแสดงละครสร้างสรรค์ นั้น ผู้สวมบทบาทสมมติก็ต้องตั้งใจฟังตัวละครอื่น ๆ เพื่อที่จะสามารถตอบโต้ด้วยการด้นสดได้
4. ละครสร้างสรรค์พัฒนาทักษะทางสังคม ทุกครั้งที่ผู้ร่วมกิจกรรมทำงานร่วมเป็นกลุ่ม การเรียนรู้เกี่ยวกับสมาชิกในกลุ่มย่อมเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยเริ่มเรียนรู้ที่จะเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  และรู้จักที่จะเป็นผู้เสียสละหรือเป็นผู้ให้แก่ กลุ่มเพื่อผลของงานที่ดี กระบวนการกลุ่มทำให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจความหมายของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน
5. ละครสร้างสรรค์พัฒนาการมองคุณค่าเชิงบวกในตนเอง เนื่องจากกระบวนการของละครสร้างสรรค์นั้นให้โอกาสผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนมีส่วนร่วม นับตั้งแต่การแสดงความคิดเห็น การวางแผน การมีปฏิสัมพันธ์และการได้แสดงออกอย่างเป็นตัวของตัวเองภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัยและเป็นกันเอง ผนวกกับปฏิกิริยาในแง่บวกคำชื่นชม การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตัวเอง พัฒนาการที่เกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าของตนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่น คงในจิตใจและต่อบุคลิกภาพบุคคลผู้นั้น
6. ละครสร้างสรรค์พัฒนาการรับรู้และสร้างความเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงในสังคม และช่วยให้
ตระหนักถึงปัญหาที่มีอยู่ในสังคม การได้ลองสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ  รวมทั้งการได้ชมตัวละครที่มีตัวละครมาปรากฏอยู่อย่างมีชีวิตชีวานั้น ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมนั้นมีโอกาสเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละคร บ่อยครั้งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงเหตุผล  ที่ตัวละครตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  หรือเหตุผลที่ตัวละครแสดงท่าทางลักษณะใดลักษณะหนึ่ง  ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้และเข้าใจในสภาพของตัวละครลึกซึ้งด้วยตนเอง
7. ละครสร้างสรรค์พัฒนาทักษะในการใช้ร่างกายและการใช้ภาษา เกมส์และกิจกรรมของละคร
สร้างสรรค์นั้นมักจะเป็นแรงจูงใจที่ดี  ซึ่งช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความต้องการที่จะแสดงออกด้วยร่างกายและด้วยการใช้ภาษาที่ถูกต้องชัดเจนภายใต้การเล่นบทบาทสมมติ ที่สนุกสนานและปลอดภัย เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ผู้นำและผู้ร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสเห็นความสามารถที่มีอยู่ในตัวของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน
8. ละครสร้างสรรค์พัฒนาทักษะการอ่าน  กิจกรรมส่วนใหญ่ของละครสร้างสรรค์  มักจะมีจุดเริ่มต้นมาจาก นิทาน คำกลอน บทกวี เรื่องสั้น หรือสารคดี ฯลฯ เรื่องราวที่ถูกจินตนาการแล้วกลายมาเป็นละครสร้างสรรค์นั้นมักจะสร้างความประทับใจที่ดีให้กับผู้ร่วมกิจกรรม  เมื่อผู้ร่วมกิจกรรมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการอ่านที่ดี ประสบการณ์นั้นก็จะเป็นการปลูก ฝังนิสัยรักการอ่านได้อีกทางหนึ่ง
9. ละครสร้างสรรค์เป็นจุดเริมต้นไปสู่ความเข้าใจในศิลปะของการละคร ถึงแม้ว่าละครสร้างสรรค์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกให้ผู้ร่วมกิจกรรมไปเป็นนักแสดง  อีกทั้งบรรยากาศในการจัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์นั้น   จะแตกต่างจากบรรยากาศในการแสดงละครเวที  ซึ่งละครเวทีจะมุ่งเน้นที่ภาพรวมของการเป็นละคร แต่ละครสร้างสรรค์มุ่งเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของผู้ร่วมกิจกรรม แต่การแสดงละครสร้างสรรค์ยังมีลักษณะบางส่วนที่เหมือนกับละครเวที  คือ ละครสร้างสรรค์เสนอบรรยากาศของการสมมติที่อยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันการแสดงละครสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น  จึงมีลักษณะของ “โลกสมมติ” ที่ให้ความเชื่ออย่างจริงใจกับผู้ชม ผู้ที่นั่งชมละครสร้างสรรค์ก็จะได้เรียนรู้บทบาทของการชมที่ดี บทบาทของการเป็นนักแสดงที่ดี และเรียนรู้ถึงบทบาทที่ดีด้วย การเรียนรู้เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานอันสำคัญต่อความเข้าใจในศิลปะของละคร
10. ละครสร้างสรรค์พัฒนาจิตใจให้ละเอียดอ่อนและสร้างเสริมจริยธรรมในจิตใจ การที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสใช้กิจกรรมต่างๆในละครสร้างสรรค์เพื่อที่จะเข้าใจถึงประสบการณ์จากประสาทสัมผัสทั้ง 5  การใช้จินตนาการทดแทนความรู้สึกของตัวเองด้วยความรู้สึกของผู้อื่น การทำสมาธิเพื่อการเคลื่อนไหวอันละเอียดอ่อนเหล่านี้  ล้วนแต่เป็นการสร้างความละเอียดอ่อนให้กับจิตใจไปทีละน้อย และนำไปสู่วุฒิภาวะทางอารมณ์และทางความคิดได้ในที่สุด
11. ละครสร้างสรรค์เป็นเทคนิคการสอนในศาสตร์อื่นๆ การเรียนรู้จากละครสร้างสรรค์เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์  จึงนับว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ได้ผลดี  เพราะทำให้ผู้เรียนหรือผู้ร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วม โดยมีจินตนาการความรู้ความเข้าใจ และความรู้สึกของตนเป็นศูนย์กลาง วิธีการเรียนรู้แบบนี้  จึงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งครูสามารถนำเอาวิธีการของละครสร้างสรรค์มาเป็นเทคนิคในการเรียนการสอนโดยนำหน่วยการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไปขยายผลต่อเนื่องเข้าสู่เนื้อหาวิชาอื่นๆได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น